อะฟลาทอกซิน เป็นเชื้อราอันตรายที่ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็ง เกิดจากเชื้อราชนิด Aspergillus flavus และ Aspergillus parasiticus อะฟลาทอกซินนั้นสามารถพบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศร้อนชื้นหรือกึ่งร้อนชื้น อะฟลาทอกซินมักปนเปื้อนในพืช เช่น ข้าวโพด ถั่ว เครื่องเทศ เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ โดยสามารถพบได้ทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว นอกจากนี้อะฟลาทอกซินยังสามารถลอยในอากาศ และเข้าไปในร่างกายได้ด้วยการสูดดม อะฟลาทอกซินสามารถทนต่อความร้อนได้ถึง 260 องศาเซลเซียส และสลายตัวได้ด้วยแสง UV อันตรายจากอะฟลาทอกซิน อะฟลาทอกซินนั้นเป็นอันตรายทั้งในมนุษย์และสัตว์ สามารถส่งผลกระทบต่อตับ ไต ระบบหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ รวมถึงระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติ ดังนี้ 1. ภูมิคุ้มกันลดลง 2. ทำให้เด็กโตช้าและแคระแกร็นกว่าปกติ 3. ทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด 4. โรคมะเร็งตับ 5. โรคตับอักเสบชนิดเฉียบพลัน 6. กลุ่มอาการไรย์ (Reye's syndrome) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการทางสมองชนิดหนึ่ง 7. ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา 8. ตับวาย หากได้รับอะฟลาทอกซินในปริมาณมาก มนุษย์สัมผัสกับอะฟลาทอกซินได้ด้วยวิธีใดบ้าง อะฟลาทอกซิสามารถเข้าสู่ร่างกาย โดยรับประทานอาหารที่ปนเปื้อน และการสูดดมในขณะที่อะฟลาทอกซินลอยในอากาศ อะฟลาทอกซินมักปนเปื้อนผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด ถั่วลิสง ธัญพืช เมล็ดกาแฟ มันสำปะหลัง ข้าว พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า พริกไทย กระเทียม และหอมแดง รวมถึงผลิตจากสัตว์อย่างนมอีกด้วย หากเก็บอาหารไว้ในที่ที่อุณหภูมิและความชื้นสูง อะฟลาทอกซินก็อาจเติบโตภายหลังได้ และหากนำอาหารเหล่านี้ไปทำอาหารหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ก็อาจทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นปนเปื้อนไปด้วย เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม น้ำพริกเผา ซอสถั่วเหลือง ผักผลไม้อบแห้ง แป้ง และเนยถั่ว เป็นต้น ขอบคุณเนื้อหาเพิ่มเติม |